นกซีบร้า

การเลี้ยงนกซีบร้า
นกตัวเล็ก ๆ ที่เราอาจเคยพบเห็นเป็นรูปตุ๊กตานกตัวสีขาวปากแดงตัวเล็ก ๆ ที่คนชอบตั้งโชว์กันบ่อยตา เจ้านกน่ารักที่พูดถึงนี้ เป็นนกข้ามฟ้าข้ามฝั่งมาจากดินแดนแห่งสายพันธุ์นก ในประเทศออสเตรเลีย ที่เรียกกันในนาม นกซีบร้า หรือ นกม้าลาย นั่นเอง
ชื่อ ซีบร้า ได้มาเพราะบริเวณท่อนหางที่มีลายขวางพาดเป็นแนวดูคล้ายกับพวกม้าลายในแอฟริกา นั่นเป็นที่มาที่คนตะวันตกใช้เรียกนกชนิดนี้กัน
นกซีบร้า เป็นหนึ่งในนกฟินซ์ อยู่ในสกุล Taeniopygia คำว่านกฟินซ์เป็นชื่อเรียกแทนเหล่านกตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยเมล็ดพืชหรือแมลง เป็นอาหาร เนื่องจากเป็นนกที่มีจงอยปากที่แข็งแรง และสามารถบีบหรือเจาะพวกเมล็ดพืชเล็ก ๆ ที่มีความแข็งได้อย่างง่ายดาย
ในบ้านเรามีนกที่อยู่ในวงศ์เดียวกับนกฟินซ์มากมาย ตัวอย่างพวกที่มีคนชอบนำไปใส่กรง จำหน่ายให้คนนำไปปล่อยเอาบุญ ตามวัด หรือศาลเจ้าต่างๆ ส่วนใหญ่นกที่ถูกจับมาขายนั้น จะเป็นนกกะติ๊ดสีอิฐ (Black Head Munia)
การเลี้ยงนกฟินซ์ โดยเฉพาะนกซีบร้าฟินซ์ ได้รับความนิยมมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา ในอเมริกาใต้อย่างบราซิล ตลอดจนประเทศในเอเชีย เช่นญี่ปุ่น นกชนิดนี้เป็นนกพื้นเพจากประเทศออสเตรเลีย โดยเฉพาะในแถบตอนกลางของประเทศ รวมไปถึงสามารถพบได้ในประเทศที่ใกล้กันอย่าง บางเกาะของอินโดนีเซีย หรือในหมู่เกาะติมอร์ จัดเป็นนกเล็ก ๆ ที่มีความน่ารัก เพราะขนาดของลำตัวที่มีความยาวเพียงประมาณ 10 เซนติเมตร และเป็นนกที่เลี้ยงง่ายมาก รวมทั้งไม่ก่อความรำคาญให้แก่ผู้เลี้ยงจากเสียงรบกวนแบบจำพวกนกปากขอ สีสันของนกชนิดนี้ ถ้าเป็นนกดั้งเดิม เพศผู้จะมีจงอยปากสีอมส้ม และกลายเป็นแดงสดเมื่อเวลาโตเต็มที่ ส่วนเพศเมียจะเป็นสีส้ม ในเพศผู้จะมีสัญลักษณ์แถบสีส้มเป็นวงกลมอยู่บริเวณสองข้างแก้ม และบริเวณหน้าและบริเวณตะโพกและหางจะมีเส้นสีดำพาดเป็นแนวขวางคล้ายลายของม้าลาย บริเวณข้างลำตัวของผู้จะมีสีน้ำตาลอมแดงและมีจุดสีขาวกระจาย สวยงามน่ารัก และดวงตาเมื่อโตเต็มไว้จะมีสีแดงกล่ำ ส่วนในเพศเมียจะไม่มีที่กล่าวมา
ปัจจุบันมีการนำนกชนิดนี้มาเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงและพัฒนาสีสันจนสีสันที่มากมายหลากหลายขึ้น เช่นสีเทา,สีกวาง,แก้มดำ,อิซซาเบล, อกส้ม,เพนกวิน,ขาวปลอด ฯลฯ และด้วยพัฒนาการเหล่านี้ทำให้ นกซีบร้าฟินซ์เป็นที่นอกจากจะมีความน่ารักแล้วยังมีสีสันที่น่าดูชมด้วย
การเลี้ยงดูนกซีบร้าฟินซ์
หนังสือเล่มเล็ก ๆ เขียนโดย Hans J. Martin ออกโดยสำนักพิมพ์ Barron ราคาประมาณ 8 เหรียญ เป็นหนังสือที่ผมซื้อไว้จาก amazon.com เมื่อสิบกว่าปีก่อน หนังสือเล่มนี้แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ แต่ก็บรรจุเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับนกซีบร้าฟินซ์ได้อย่างครอบคลุมน่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะในแง่ของการจัดการเลี้ยงดู หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมกลายเป็นผู้สนใจเลี้ยงนกฟินซ์ชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิดด้วยกัน เช่นพวก กูลเดี้ยนฟินซ์หรือฟินซ์เจ็ดสี, แพรอทฟินซ์ ฯลฯ (ซึ่งถ้ามีเวลาจะเขียนถึงฟินซ์ที่น่าสนใจชนิดอื่น ๆ ต่อไป) คำถามก็คือ นกซีบร้าฟินซ์ เหมาะสำหรับผู้เลี้ยงประเภทใด คำตอบก็คือ ง่ายและเหมาะสำหรับทุกเพศวัย โดยเฉพาะในแถบประเทศยุโรป นกฟินซ์ กลายเป็นนกยอดนิยมสำหรับช่วยเหลือผู้สูงวัยที่มีอาการเหงาจากกรณีเกษียณจากงานประจำ และกลายเป็นนกยอดฮิตสำหรับเด็ก เพื่อการสร้างนิสัยในการรักสัตว์ และที่สำคัญคือพัฒนาการสร้างความสามารถในการเตรียมพร้อมเพื่อเรียนรู้ด้านชีววิทยาที่ดียิ่ง เพราะนกชนิดนี้ เด็ก ๆ สามารถเฝ้าดูพัฒนาการตั้งแต่ยังเป็นเล็ก ๆ และเติบโต รวมทั้งการมีคู่ ผสมพันธุ์ วางไข่ ฟักไข่ และการเลี้ยงดูลูกนก ในเวลาที่ไม่นานนัก ประกอบกับบางท่านที่มีเวลาว่างการนำลูกนกมาเลี้ยงเป็นนกลูกป้อน (Hand feed) ก็จะได้นกรุ่นใหม่ที่มีความเชื่องต่อผู้เลี้ยงอย่างน่ารักทีเดียวในกรุงเทพ อย่างตลาดนัดจตุจักร ,ตลาดซันเดย์,หรือตลาดสนามหลวง2 ธนบุรี จะเป็นแหล่งที่มีจำหน่ายนกชนิดนี้อยู่ แ ละในหาดใหญ่บางร้านผมก็พบว่ามีจำหน่ายนกซีบร้าฟินซ์นี่เช่นกัน และสนนราคาก็ขึ้นอยู่กับสีสันของนก ถ้าเป็นสีดั้งเดิมพื้น ๆ สนนราคาก็ตกคู่ละไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้นเอง ดังนั้นเรื่องของราคาคงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับนักเลี้ยงนกทุกวัย การเลี้ยงนกทุกชนิด ต้องศึกษาหาข้อมูลและมีการวางแผนกันก่อน จึงจะเป็นนักเลี้ยงนกมืออาชีพ และการวางแผนที่ดีช่วยให้การเลี้ยงนกประสบผลสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เมื่อพิจารณาเลี้ยงนกชนิดใด ต้องคำนึงตั้งแต่ สถานที่จัดวาง ขนาดของกรง ความสะดวกและง่ายดายของอหารที่จะให้นกชนิดนั้นในอนาคต หรือแม้แต่ข้อจำกัดเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน อันสืบเนื่องมาจากเสียงรบกวน (ในกรณีนกบางชนิด เช่นจำพวกนกปากขออย่าง มาคอว์,กระตั้ว หรือพวกนกแก้วคอนัวร์ ฯลฯ) เมื่อวางแผนอย่างที่บอกข้างต้นแล้วค่อยพิจารณาเดินหาเลือกซื้อนกต่อไป
การเลือกนกซีบร้า จำเป็นต้องพิจารณาถึงเรื่องของสุขภาพในเบื้องต้นให้เป็น ก่อนอื่นให้พิจารณาสภาพกรงเลี้ยงหรือกรงขายเดิมว่ามีสภาพเป็นอย่างไร สะอาดหรือสกปรกแบบที่เรียกว่า คอนไม้ แทบจะมองไม่เห็นเนื้อไม้เพราะทับถมไปด้วยมูลของนกซะหนาเตอะ.. แบบนี้ก็ไม่ไหวครับ หรือถ้ากรงที่ใส่นกไว้จำหน่ายสะอาดสอ้านดี ก็ผ่านไปดูที่สภาพของนกว่า ขนไม่ฟู ขนหาง,นิ้วตีน (นกเค้าไม่เรียกเท้าครับ )ต้องอยู่ครบ ไม่ด้วน ไม่แหว่ง นกต้องมีอาการสดใสร่าเริงอยู่ตลอด ไม่ซึม ซุกตัวอยู่มุมใดมุมหนึ่งของกรง ใต้หางตรงก้นไม่เปียกแฉะหรือมีร่องรอยคราบสกปรกติดหนา แบบนี้ถือว่าใช้ได้ กรงเลี้ยงของนกชนิดนี้ สามารถใช้ได้ตั้งแต่ กรงลวดเล็ก ๆ ราคาไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงแบบกรงรวมใหญ่ (aviary) ก็ไม่ว่ากันขึ้นอยู่กับงบประมาณอุปกรณ์การเลี้ยงนอกจากกรงที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้า อุปกรณ์ที่สำคัญในกรงก็คือ คอนไม้ ซึ่งปกติร้านค้ามักจะให้มาพร้อมกรงเลี้ยง ซึ่งจะเป็นคอนไม้กลม ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ซึ่งสามารถใช้คอนนี้เป็นคอนหลักได้ แต่สำหรับคอนไม้ที่ดีสำหรับนกฟินซ์ที่ผมเคยใช้ก็คือ กิ่งไม้ที่ลักษณะประมาณนิ้วก้อยและมีผิวของเปลือกไม้หยาบอย่างพวกกิ่งไม้มะขามดูจะดีมากสำหรับนกฟินซ์ เพราะกระชับตีนนก และร่องของผิวเปลือกไม้ที่ขรุขระช่วยเกลาเล็บของนกไม่ให้ยาวเกินไปอันเป็นอุปสรรคต่อสุขภาพนก นอกจากคอนไม้แล้ว อุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่น เช่น ถ้วยอาหาร (แนะนำให้ใช้พวกถ้วยดินเผา) หลอดน้ำสำหรับให้นกได้กิน ,อ่างสำหรับให้นกได้อาบน้ำ (สำหรับกรงใหญ่) และเพิ่มอีกหน่อยสำหรับนกซีบร้าฟินซ์ก็คือ ชิงช้าไม้ ที่ประดิษฐ์จากกิ่งมะขามผูกกับลวด (อันนี้นกจะชอบมากและทำง่ายด้วยครับ)
ตำแหน่งการจัดวางกรงไม่ควรวางไว้ในตำแหน่งที่โล่ง มีลมโกรกพัดเกินไป ควรอยู่ในร่มกันฝนได้ และอยู่ในมุมที่จะสามารถรับแสงแดดยามเช้าได้(จะดีมาก เพราะนกชนิดนี้ชอบอาบน้ำตอนเช้าและได้รับแสงแดดเพื่อทำความสะอาดขนและช่วยกำจัดพวกไรไปในตัว ซีบร้าฟินซ์ก็เหมือนนกฟินซ์ทั่วไป ที่อาหารหลักคือเมล็ดพืชต่างๆ เช่น มิลเลต,ข้าวไรน์ (มีจำหน่ายตามร้านของอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีจำหน่ายพวกนกหรือไก่) และอาจเสริมด้วยพวกเศาขนมปังปอนด์, อาหารไข่ (egg food) ,ไข่แดงต้ม,ผักกาดหอม,เมล็ดพืชงอก,ผลไม้บางชนิดเช่นพวกแอปเปิ้ล มะละกอ ฯลฯ หั่นเป็นลูกเต๋าเล็ก ๆ ฯลฯ อาหารเสริมเหล่านี้อาจให้สลับกันตามความเหมาะสม อาหารและสุขภาพที่ดี ช่วยให้นกซีบร้าในกรงเลี้ยงอาจมอายุมากกว่าในธรรมชาติ (ในธรรมชาติราว 5 ปี) และจากสถิติพบว่ามีผู้เลี้ยงนกชนิดนี้ในกรงเลี้ยงได้ถึง 11 ปีเลยทีเดียว สำหรับผู้ที่เลี้ยงในเชิงเพาะพันธุ์ (Breeder) แนะนำให้ใช้ 1 กรงต่อ 1 คู่ เพราะง่ายที่นกจะเข้าคู่กัน และตัดปัญหาด้านการบกวนจากนกตัวอื่นและการจิกตีแย่งชิงกันออกไปได้
การเลี้ยงนกฟินซ์ซีบร้าในเชิงเพาะพันธุ์ เพื่อเป็นแนวทางและประโยชน์สำหรับผู้ที่คิดเริ่มต้นเลี้ยงนกสวยงามโดยเฉพาะนกฟินซ์กัน เมื่อตกลงใจที่จะเลี้ยงนกชนิดนี้เป็นคู่เพื่อให้มีการขยายสายพันธุ์ ทั้งเพื่อรายได้พิเศษและแถมพกความรู้และความชำนาญในการก้าวไปสู่นักเพาะพันธุ์นกที่ยากกว่า ก็คงต้องมาทำความรู้จักว่า จะต้องตระเตรียมสิ่งใดกันบ้าง
เริ่มแรก กรงเพาะแบบที่เรียกว่า กรงลวดหมอน ดูจะเป็นกรงขนาดที่เหมาะสมสำหรับเพาะพันธุ์นกหนึ่งคู่ ซึ่งการเพาะพันธุ์แบบนี้ เมื่อมีหลายกรง เรามักเรียกกันว่า กรงคอนโด กรงเพาะ จะต้องประกอบด้วย รัง ที่ใช้สำหรับนกวางไข่ และฟักไข่ ซึ่งสำหรับนกในกลุ่มนกฟินซ์ มักนิยมใช้พวกตะกร้าวหวายสาน ซึ่งตามร้านค้านกหรือเพ็ทช็อบบางแห่งอาจมีจำหน่าย โดยราคาตระกร้าหวายฝีมือดี ๆ แต่ราคาเพียงไม่กี่สิบบาทอาจใช้สำหรับนกได้ถึง สองหรือสามครอกเลยทีเดียว
ตะกร้าสำหรับนกวางไข่ (แบบเมืองนอก)
เมื่อได้ตะกร้าหวายสานมาแล้วให้ติดไว้ที่มุมบนสุดด้านใดด้านหนึ่งของกรง จากนั้นเตรียมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้นก อาทิ หลอดน้ำ,ถ้วยอาหาร, คอนหลัก และเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็หาที่ทางจัดวางตำแหน่งให้ดี โดยตำแหน่งจัดวางกรงนกสำหรับเพาะพันธุ์นั้น ควรเป็นสถานที่มีคุณสมบัติพื้นฐานคือ
- ไม่มี่ลมโกรกแรงเกินไป และสถานที่ควรมีหลังคาเพื่อกันฝนได้
- ถ้ามีแสงแดงส่องถึงยามเช้าและร่มเมื่อเที่ยงไปจนถึงเย็นจะดีมาก
- สงบพอสมควร และปราศจากการรบกวนจากสัตว์ต่าง ๆอาทิ เสียงสุนัข หรือแมว
เมื่อทุกอย่างครบถ้วน ก็ให้ปล่อยนกเข้ากรงเพาะ ในกรณีที่นกทั้งคู่เคยอยู่กันมาก่อนหน้า ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นนกที่แยกกันอยู่ (ผู้ และเมีย) ข้อแนะนำก็คือ ให้ปล่อยตัวเมียเข้าไปคุ้นเคยก่อนซักวันสองวัน จากนั้นค่อยปล่อยตัวผู้ตามเข้าไป
เมื่อทุกอย่างลงตัวดี ทั้งสถานที่,กรงเลี้ยง,ตำแหน่งของรังสำหรับเพาะพันธุ์ ก็เริ่มสังเกตพฤติกรรมของนก ซึ่งจะพบว่า นกจะให้ความสำคัญกับตะกร้าที่เราแขวนไว้สำหรับเพาะพันธุ์มากขึ้น เช่นเข้า ๆ ออก ๆ บ่อย และใช้สำหรับนกในเวลากลางคืน การทดสอบโดยการหาหญ้าเส้นเล็ก ๆ หรือ ใบสนเส้นเล็กๆ (ได้จากกิ่งสน) วางไว้ทืพื้นกรงสักสองสามเส้น หากพบว่านกเริ่มคาบแล้วบินเข้าไปในรัง นั่นเป็นสัญญานพร้อมแล้วสำหรับการเข้าคู่ของนกให้เราจัดหาหญ้าให้กับนกทุกวัน จนกระทั่งสังเกตว่าในรังนั้น นกได้สานพื้นสำหรับรองรังไว้อย่างแน่นหนาเพียงพอ (อันนี้ต้องให้ความสำคัญด้วยเพราะเกี่ยวกับความอบอุ่นเมื่อเวลาฟักไข่)
หลังจากนั้นไม่นานนก็จะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่ใบแรก ไปจนกระทั่งใบสุดท้ายราว 4-5 ฟอง จากนั้นก็ตัวเมียก็จะเริ่มฟักไข่ในรังตลอดเวลา ประมาณสองอาทิตย์ต่อมา ไข่ใบแรกก็จะเริ่มฟักเป็นตัวและไล่กันไปจนกระทั่งตัวสุดท้าย ในระหว่างที่ลูกนกฟักตัวหมด ควรเสิรมอาหารให้แก่พ่อแม่นกสำหรับนำไปป้อนลูก โดยนอกจากจะเป็นพวกเมล็ดพืชที่เคยให้ตามปกติแล้วระหว่างนี้อาจเสริมด้วย อาหารสูตรพิเศษ คือ ขนมปังแผ่นนำไปชุบไข่ไก่ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห่งจากนั้นนำไปเข้าไมโครเวฟเพื่อให้กรอบ แล้วบดเป็นชิ้นเล็กๆ (เก็บไว้ในตู้เย็นได้) ค่อย ๆ เสริมให้นกทุกวันพร้อมๆ กับเมล็ดพืชปกติ
ประมาณยี่สิบก็จะเริ่มเห็นลูกนกเริ่มทยอยลงรัง และเริ่มกินเองได้ และลูกนกตัวใดที่ยังอยู่ในรังก็จะเริ่มถูกพ่อนกหรือแม่นกไล่จิกลงรัง จากนั้นชีวิตใหม่จากลูกนกน่ารัก ๆ ก็จะเริ่มขึ้น ในกรณีที่เราไม่ต้องการให้นกวางไข่ชุดต่อไป ก็จะต้องเอาตระกร้าที่แขวนออก แต่ถ้าเรายังวางไว้ นกก็จะทำการวางไข่รุ่นต่อไป และเราก็มีหน้าที่ในการนำลูกนกที่เริ่มหัดกินเองได้แล้วย้ายออก ไปยังกรงใหม่ต่อไป
การเลี้ยงนกซีบร้าฟินซ์ จัดเป็นการเลี้ยงนกที่ง่ายและเหมาะสำหรับพ่อแม่ ที่จะหัดให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ทั้งในเรื่องชีววิทยา,เกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์,ความรับผิดชอบและความมีวินัยในหน้าที่ ฯลฯ และทีสำคัญคือการสร้างความโอนโยนขึ้นในจิตใจของเด็ก ๆ อันเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ละเลยกันมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น